วันที่ 6 พ.ย.2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึงเวลา 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 6-15 พ.ย.67 init. 2024110512 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย :
เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 3 พ.ย.67 (ช้ากว่าปกติราว 2 สัปดาห์) ปีนี้มีความแปรปรวนของอากาศสูง ต้องระวังรักษาสุขภาพ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ช่วงวันที่ 6-15 พ.ย.67 : คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนต่อเนื่อง ทำให้ลมหนาว (มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) พัดต่อเนื่อง
ส่วนลมในระดับกลาง ยังมีลมฝ่ายตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าสู่ฤดูหนาวปีนี้ อาจจะมีฝนปะปนอยู่บ้างในช่วงแรก ๆ นี้ พี่น้องเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันความเสียหายของผลผลิตทางเกษตรที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝนที่ตก ความชื้นสูง
หลังจากนั้นอากาศจะเริ่มเย็นลงโดยช่วงเช้าอากาศเย็น ส่วนกลางวันอาจจะร้อนบ้าง เนื่องจากเมฆมีน้อย สำหรับยอดดอย ยอดภู จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ให้ได้สัมผัสกันยาว ๆ ความหนาวเย็นจะแผ่ปกคลุมอยู่ถึงวันที่ 14 พ.ย.67ส่วน กทม. และปริมณฑลจะเย็นลงเล็กน้อย
แต่ช่วง 6-8 พ.ย.67 ภาคเหนือตอนบน (จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน) อาจจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ลมกระโชกแรง (อากาศเย็นปนฝน) เนื่องจากมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับบน (Westerly trough) พัดจากประเทศเมียนมาเข้าปกคลุมต้องเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง
สำหรับอากาศเย็นถึงหนาวจะได้สัมผัสกันยาว ๆ บางวันอาจจะมีฝนปนหนาวบ้าง เตรียมตัววางแผนไปสัมผัสอากาศเย็นถึงหนาวได้ระวังรักษาสุขภาพช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
ช่วง 8-13 พ.ย.67 ยังต้องติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “หยินซิ่ง (YINXING)” ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก (ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน แต่มาในช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงปกคลุมประเทศไทยตอนบน จึงยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในขณะนี้
สำหรับภาคใต้ เมื่อลมหนาวมาเยือน (ลมตะวันออกเฉียงเหนือ) ตั้งแต่วันนี้ (6 พ.ย.67) ถึง 10 พ.ย.67 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร ลงไป) ยังต้องระวังและเตรียมรับมือฝนตกหนัก ฝนตกสะสม คลื่นลมแรงขึ้น อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ การวิเคราะห์ข้อมูลควรใช้ข้อมูลผลการตรวจวัดจริงมาวิเคราะห์ร่วมด้วย ไม่ควรวิเคราะห์เฉพาะจากแบบจำลองฯ)