18 พ.ย. 2567 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือล่วงหน้า
หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานวันที่ 20 – 24 พ.ย. 2567 ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ที่
จ.นครศรีธรรมราช
จ.พัทลุง
จ.สงขลา
จ.ปัตตานี
จ.ยะลา
จ.นราธิวาส
ต้องเฝ้าระวังฝนสะสม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 19/2567 แจ้งเตือนอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และเสี่ยงน้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังในภาคใต้ วันที่ 20 – 26 พ.ย.นี้ ที่พื้นที่
จ.สุราษฎร์ธานี
จ.นครศรีธรรมราช
จ.ตรัง
จ.สตูล
จ.พัทลุง จ.
สงขลา
จ.ปัตตานี
ทุกอำเภอของ จ.ยะลา
จ.นราธิวาส
พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน-ล้นตลิ่ง และท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำสาขา ส่วนพายุ “หม่านหยี่” (MAN-YI) กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ศูนย์กลางอยู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และจะอ่อนกำลังลง วันที่ 20-22 พ.ย.นี้ ย้ำไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
สัปดาห์นี้ ภาคเหนือฝนน้อยลง อุณหภูมิลดลงจากมวลอากาศเย็นระลอกใหม่ปกคลุม แต่ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 67 ต้องรับมือฝนตกหนัก ผอ.ศปช. กำชับทุกหน่วย วางแผนการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ ไม่ให้เกิดผลกระทบท้ายน้ำ เร่งระบาย-พร่องน้ำรองรับฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
โดยที่เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ถือว่าบริหารจัดการได้ดี ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ที่สำคัญต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้า แนะติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ตามมติ ครม. วันที่ 17 กันยายน 2567 และ 8 ตุลาคม 2567 ยังดำเนินการต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ ปภ. ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินผ่าน PromptPay ให้ผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท แล้ว 26 ครั้ง เงินถึงมือผู้ประสบภัยแล้ว 257,914 ครัวเรือน เป็นเงินรวม 2,321,174,000 บาท