ค่าไฟแพง งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 จ่ายเพิ่มขึ้น 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย

ค่าไฟแพง งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 จ่ายเพิ่มขึ้น 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย

กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 12-26 ก.ค.นี้ โหวตค่าเอฟทีงวดสุดท้ายปีนี้ 3 ทางเลือก ดัน ค่าไฟแพง ก.ย.-ธ.ค.2567 จ่ายเพิ่มเป็น 4.65-6.01 บาท จาก 4.18 บาทต่อหน่วย

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.67 นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ในช่วงปลายปีนี้อาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้น 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บกับประชาชนในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

โดย กกพ. จะนำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการ จ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 แนวทาง เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค.67 ก่อนที่จะสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

กรณีที่ 1 กำหนดจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง (AF) ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. 98,495 ล้านบาท คิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนก.ย.2564-เม.ย.2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมาคืนทั้งหมดภายในเดือนธ.ค.2567 รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย

สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และมูลค่า AFGAS 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้น 44% คิดเป็น 1.83 บาทต่อหน่วย จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 6.01 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวดๆ ละ 32,832 ล้านบาท คิดเป็น 54.46 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีก 113.78 สตางค์ต่อหน่วย สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และมูลค่า AFGAS 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สตางค์ต่อหน่วย

คาดว่า ณ สิ้นเดือนธ.ค.2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้น 18% คิดเป็น 74 สตางค์ต่อหน่วย จาก 4.18 บาทต่อหน่วย เป็น 4.92 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวดๆ ละ 16,416 ล้านบาท คิดเป็น 27.23 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่าสิ้นเดือนธ.ค.2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท รวมกับค่าเอฟทีขายปลีก 86.55 สตางค์ต่อหน่วย

สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และมูลค่า AFGAS 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้น 11% คิดเป็น 47 สตางค์ต่อหน่วย จาก 4.18 บาทต่อหน่วย เป็น 4.65 บาทต่อหน่วย

นายพูลพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้า

เห็นได้จากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงจากงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2567 ที่ 1.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 36.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตลดลง

นอกจากนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 3.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ตามความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปี จึงคาดการณ์ราคากก๊าซจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2567 มาอยู่ที่เฉลี่ย 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู

ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กำลังการผลิตได้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยมีปริมาณการผลิตทุกแหล่งรวมกันเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียูต่อวัน แต่แหล่งก๊าซในเมียนมายังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เฉลี่ย 468 ล้านบีทียูต่อวัน จากงวดก่อนหน้านี้อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 483 ล้านบีทียูต่อวัน ส่งผลต้องมีการนำเข้า LNG Spot เข้ามาทดแทน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *