ระทึก! ฝายแตก ถูกมวลน้ำกัดเซาะขาดกว้าง 20 เมตร รับน้ำจากหนองเลิงใหญ่ สร้างมาตั้งแต่ปี 2549 เจ้าหน้าที่เร่งหาทางปิดจุดที่ขาด ไม่กระทบบ้านเรือน-พื้นที่เกษตร
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.67 นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจสอบฝายห้วยสายบาตร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเลิง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
หลังจากที่ตัวฝายที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก มาตั้งแต่ปี 2549 หรือกว่า 18 ปี ถูกมวลน้ำจากหนองเลิงใหญ่ แก้มลิงรับน้ำขนาดใหญ่ กัดเซาะจนขาดกว้างประมาณ 20 เมตร ทำให้มวลน้ำไหลทะลักข้ามผ่านฝายอย่างหนัก จนทำให้พนังดินพังทลายลงมา
รวมทั้งพนังปูนที่เพิ่งก่อสร้างก็ถูกน้ำกัดเซาะพังลงมาเช่นกัน โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบ มีนายธนาศักดิ์ ร้อยพา นายก อบต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น นายวิทิตย์ นามมูลน้อย หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น พ.อ.จตุพงษ์ พลเสน ผบ.พัน.มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น ร่วมตรวจสอบความเสียหาย และกำหนดแผนในการซ่อมแซม ป้องกันมวลน้ำในระยะเร่งด่วน
นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยสายบาตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 โดยกรมชลประทาน ก่อนจะส่งมอบให้ อบต.โคกสี เป็นผู้ดูแลรักษา ซึ่งก็ชำรุดพังมาเป็นระยะ
ทาง อบต.โคกสี ก็ปรับปรุงซ่อมแซมมาโดยตลอดเช่นกัน แต่ด้วยอายุการใช้งานมาหลาย 10 ปี ทำให้โครงสร้างของฝายเกิดการเสื่อมสภาพ จนทำให้น้ำกัดเซาะขาดไปประมาณ 20 เมตร ซึ่งแผนในระยะเร่งด่วน คือการหาวิธีการชะลอน้ำจากหนองเลิงใหญ่ ไม่ให้ไหลทะลักลงสู่ลำน้ำพองไปมากกว่านี้ เนื่องจากจะกระทบกับการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่รอบหนองเลิง
เบื้องต้นประสานขอถุงบิ๊กแบ็คจากภาคเอกชน และหากไม่สามารถปิดกั้นน้ำได้ ก็จะต้องใช้กล่องเกเบี้ยนมาปิดช่องฝายที่ขาด ส่วนกำลังพลในการลำเรียงถุงบิ๊กแบ็คประสานไปยังทหารจาก มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น
รวมทั้งกำลังพลจิตอาสามาช่วยกัน ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เครื่องไม้เครื่องมือมีความพร้อม ก็คาดว่าจะสามารถปิดจุดที่ขาดได้ภายในคืนนี้
อย่างไรก็ตาม มวลน้ำที่ไหลผ่านจุดตัวฝายที่ขาด จะไม่กระทบกับบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากน้ำจากที่นี้จะไหลลงสู่ลำน้ำพอง ซึ่งปัจจุบันยังสามารถรับน้ำได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นชาวบ้านรอบหนองเลิงใหญ่ ที่เป็นผู้ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค